วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
วัดเกศฯ หกชั้น อกตลอด
พระสมเด็จวัดเกศไชโย เป็น 1 ใน 3 ตระกูลพระสมเด็จที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) โดยได้บรรจุไว้ในองค์พระมหาพุทธพิมพ์ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิฐฐานอยู่ภายในพระวิหารวัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นพระสมเด็จที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร นั่นคือจะต้องมีลักษณะของ อกร่อง หูบายศรี มีขอบกระจก เกือบทุกพิมพ์ทรง วงการพระเครื่องในปัจจุบันให้ความนิยมเป็นอย่างสูงและจัดรวมพระสมเด็จวัดเกศไชโยให้อยู่ในชุด เบญจภาคี เช่นเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆัง และพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม
วัดไชโยวรวิหารหรือวัดเกศไชโย ( ชื่อที่ปรากฏในพื้นที่คือ วัดเกศไชโย ) เป็นพระอารามหลวงชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เดิมทีเป็นวัดราษฏร์ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาไม่มีประวัติแน่ชัดว่าใครสร้าง แต่มาปรากฏชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) แห่งวัดระฆังโฆษิตารามได้มาสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้น เมื่อครั้งปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประมาณปี 2400-2405 ซึ่งขณะนั้นท่านยังดำรงสมณะศักดิ์ที่ พระเทพกวี
การที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) มาสร้าง พระหลวงพ่อโต หรือที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามให้ภายหลังว่า พระมหาพุทธพิมพ์ ขึ้นไว้ที่นี่ ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ระลึกถึงโยมมารดาซึ่งได้ร่วงลับไปแล้วและเป็นอนุสรณ์สถานความผูกพันในช่วงชีวิตของท่าน เนื่องจากมารดาเคยพาท่านมาพักอยู่ที่ตำบลไชโยเมื่อตอนท่านยังเล็กๆ ซึ่งตามประวัตินั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) ท่านมักสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์เกี่ยวกับชีวิตของท่านไว้ตามสถานที่ต่างๆ ไว้มากมาย
คามบันทึกของพระยาทิพโกษา ( สอน โลหะนันท์ ) ได้กล่าวไว้ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) เป็นผู้สร้างขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับโยมมารดาที่ชื่อ เกศ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) ทรงสร้างพระพิมพ์สมเด็จ 7 ชั้น แล้วนำมาแจกรวมทั้งบรรจุกรุไว้ใน กรุวัดไชโยวิหาร ในคราวที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) ได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่วัดนี้ และประมาณการจากบันทึกต่างๆว่าน่าจะมีอายุการสร้างสมเด็จพิมพ์วัดเกศไชโยนั้นใกล้เคียงกับสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม
พระสมเด็จวักเกศไชโย จึงถือได้ว่าเป็นสมเด็จอีกตระกูลหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังษี ) ทั้งในด้านการปลุกเสก และบรรจุกรุ ส่วนผสมในการสร้างนั้นล้วนแล้วแต่เป็นของดีของวิเศษซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) นำมาประสมกันเป็นเนื้อพระนั้น ส่วนใหญ่ใช้สูตรเดียวกับสมเด็จวัดระฆังฯ และสมเด็จบางขุนพรหม ประกอบด้วยมวลสารหลักได้แก่ ปูนเปลือกหอย ผงวิเศษ ( ผงอิทธิเจ ผงพุทธคุณ ผงปถมัง ผงมหาราช และผงตรีนิสิงเห ) ข้าวสุก กล้วยป่า ดอกไม้แห้ง และน้ำมันตั้วอิ้ว และมวลสารอื่นๆอีกมาก
เนื้อพระสมเด็จวัดเกศไชโย อาจแบ่งได้ 3 ลักษณะคือ เนื้อนุ่ม เนื้อนุ่มปานกลาง และเนื้อแกร่ง พระเนื้อนุ่มมีมวลสารและน้ำมันตั้งอิ้วผสมอยู่มาก เรียกว่า เนื้อจัด ส่วนใหญ่มีสีขาวขุ่นอมน้ำตาล ( ไม่ใช่คราบเปลื้อนที่ผิว ) ส่วนพระเนื้อนุ่มปานกลาง มีส่วนผสมที่ได้สัดส่วนลงตัว ส่วนใหญ่สีขาวอมเหลือง และพระเนื้อแกร่ง เป็นพระเนื้อแก่ปูน ผิวแห้ง แกร่ง คล้ายเนื้อหินอ่อน มวลสารปรากฏให้เห็นในปริมาณน้อย
พระสมเด็จวัดเกศไชโยนี้ มีด้วยกันหลายพิมพ์ แต่พิมพ์ที่วงการสากลนิยมมี 3 พิมพ์ด้วยกันคือ สมเด็จพิมพ์ 7 ชั้นนิยม สมเด็จพิมพ์ 6 ชั้น และสมเด็จพิมพ์ 3 ชั้น ส่วนในด้านพุทธคุณนั้นเด่นทางด้านโชคลาภ และเมตตามหานิยม
นำลิงค์ไปศึกษา
http://www.krusiam.com/blog/view.asp?Page=3&Blog_ID=B00436&Blog_GID=G00441&Blog_PID=P00821
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น