วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554

สมเด็จ อรหัง ยันต์จม



พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ
พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ
พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร ที่ "พันธุ์แท้พระเครื่อง" จะกล่าวถึงในฉบับนี้ เป็นพระพิมพ์เก่าแก่ที่มีความเหมือนกับ "พระสมเด็จ" อันลือชื่อที่สร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อมวลสารหรือพิมพ์ทรง แม้กระทั่งอายุการสร้างก็คงจะไม่ด้อยไปกว่ากันมากนัก อาจเนื่องด้วยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (สุก ไก่เถื่อน) ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและเคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิก ชนทั่วประเทศ และยังมีกิตติศัพท์เป็นที่เลื่องลือในด้านพุทธาคมเป็นเลิศในสมัย และยังเป็นพระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้จัดสร้าง ในอดีตเรียกว่าเป็นที่นิยมสูงรองๆ จากพระสมเด็จทีเดียวครับผม

"พระสมเด็จอรหัง" ใช้ปูนเปลือกหอยเป็นมวลสารหลัก ในการสร้างเช่นเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ส่วนผสมอื่นๆ ก็คล้ายคลึงกัน เช่น เศษอาหารที่ฉัน วัสดุบูชา และผงอิทธิเจ จะผิดกันตรงสัดส่วนของมวลสารแต่ละชนิดที่นำมาผสมกันเท่านั้น ร่องรอยการสลายตัวและหดตัวก็จะเหมือนกัน ด้วยมวลสารและอายุขององค์พระใกล้เคียงกัน แต่เนื้อขององค์พระของ พระสมเด็จอรหังจะมี 2 สี คือ เนื้อขาวและเนื้อแดง สันนิษฐานว่าอาจจะมีการผสมปูนกินหมากหรือพิมเสนเข้าไป เมื่อผสมกับปูนเปลือกหอยทำให้เนื้อมวลสารกลายเป็นสีแดง

"พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ" เป็นพระเนื้อผง รูปสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ บนฐานสามชั้น และมีซุ้มครอบแก้วเช่นเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม แต่จะมีพุทธลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะคือ แม่พิมพ์เป็นแม่พิมพ์ที่ใช้แผ่นหินอ่อนปิดทั้ง 4 ด้าน เมื่อกดพิมพ์เป็นที่เรียบร้อยก็จะเปิดแผ่นหินอ่อนและถอดองค์พระออกจากแม่ พิมพ์ ไม่ต้องมีการตอกตัด จึงปรากฏเส้นขอบนูนทะลักขึ้นมาทั้ง 4 ด้าน อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญประการหนึ่ง เส้นซุ้มครอบแก้วเป็นเส้นเล็กและบาง พระเกศเป็นเส้นเล็ก คม และยาว พระพักตร์กลม พระกรรณทั้งสองข้างเป็นเส้นเล็กนูนและคม ข้างขวาขององค์พระจะชิดพระพักตร์มากกว่าข้างซ้าย ลำพระศอเป็นเส้นคม พระอุระเป็นรูปตัววี (V) มีเส้นอังสะ 2 เส้น คมและชัดเจนมาก พระพาหาเป็นรูปวงกลม ไม่มีหักศอก และพระเพลามีลักษณะคล้ายเรือสำปั้น

"พระสมเด็จอรหัง" แบ่งแยกพิมพ์ได้ทั้งหมด 8 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ ฐานสามชั้น เนื้อขาว พิมพ์ฐานคู่ เนื้อขาว พิมพ์ใหญ่ ฐานสามชั้น เกศอุ เนื้อขาว พิมพ์เล็ก มีประภามณฑล เนื้อขาว พิมพ์เล็ก ไม่มีประภามณฑล เนื้อขาว พิมพ์ชิ้นฟัก เนื้อขาว พิมพ์ใหญ่ ฐานสามชั้น เนื้อแดง และพิมพ์ฐานคู่ เนื้อแดง

พระสมเด็จอรหัง ทุกพิมพ์จะมีพิมพ์ด้านหลังเหมือนกันคือ มีรอยเหล็กจารลึกลงไปในเนื้อว่า "อรหัง" และพื้นผิวจะปรากฏรอยเหี่ยวย่นและการยุบตัวของเนื้อพระคล้ายเส้นพรายน้ำ หรือกาบหมาก ลักษณะเหมือนนำกาบหมากมากดเพื่อให้เนื้อแน่นมองดูคล้าย "หลังกาบหมาก" เว้นแต่เพียงพิมพ์เดียวคือ พระสมเด็จอรหัง พิมพ์ชิ้นฟัก เนื้อขาว พิมพ์ด้านหลังจะเป็นพื้นเรียบธรรมดา

พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ สมเด็จพระสังฆราชสุก กรุงเทพมหานคร เป็นพระพิมพ์เก่าแก่ที่น่าสนใจสะสมพิมพ์หนึ่ง ซึ่งสนนราคา ณ ปัจจุบัน ยังพอเช่าหาได้อยู่ แต่ของปลอมก็ค่อนข้างมาก ต้องพิจารณาให้ละเอียดครับผม ข่าวพระเครื่อง

พันธุ์แท้พระเครื่อง ราม วัชรประดิษฐ์

พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ สมเด็จพระสังฆราชสุก (สุก ญาณสังวโร)



แทน ท่าพระจันทร์ สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เนื่องจากมีผู้อ่านอยากจะได้เขียนถึงพระเนื้อผงแบบพระสมเด็จฯ ที่พระเกจิอาจารย์ต่างๆ ท่านได้สร้างไว้นอกเหนือจากพระที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้สร้างไว้ ในวันนี้ผมก็จะเริ่มจาก พระสมเด็จอรหัง ซึ่งเชื่อกันว่าสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวโร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงสร้างไว้

สมเด็จพระสังฆราช สุก เดิมท่านอยู่ที่วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) ครั้งสุดท้ายท่านได้รับพระราชทานสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ลำดับที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วย้ายมาประทับที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และที่วัดนี้เองซึ่งท่านได้แจกพระสมเด็จอรหังและบรรจุกรุไว้ส่วนหนึ่ง สันนิษฐานว่าพระสมเด็จอรหังท่านได้สร้างไว้ตั้งแต่เมื่อยังดำรงตำแหน่งเป็น สมเด็จพระราชาคณะอยู่ที่วัดพลับ ประมาณปี พ.ศ.2360-2363

พระสมเด็จอรหัง เป็นพระสมเด็จเนื้อผง รูปทรงแบบสี่แหลี่ยมชิ้นฟัก มีด้วยกันหลายพิมพ์ เช่น พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์ฐานคู่ พิมพ์เกศอุ พิมพ์เล็กมีประภามณฑล และพิมพ์เล็กไม่มีประภามณฑล ที่ด้านหลังของพระมักมีการจารอักขระเป็นตัวหนังสือขอม คำว่า "อรหัง" และอีกส่วนหนึ่งที่ใช้ตราปั้มเป็นคำว่า "อรหัง" ก็มี มักเรียกหลังแบบนี้ว่า หลังตั้งโต๊ะกัง เนื่องจากลักษณะการปั้มด้านหลังคล้ายกับตราประทับเลยก็มีบ้างเป็นส่วนน้อย และพระสมเด็จอรหังนี้ เนื่องจากพระส่วนใหญ่ด้านหลังมีคำว่า "อรหัง" จึงนิยมเรียกกันจนติดปากว่า "สมเด็จ อรหัง"

พระสมเด็จอรหัง เนื้อส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อผงปูนขาว เนื้อพระจะแตกต่างกันบ้าง เช่น เป็นแบบเนื้อขาวออกหยาบมีเม็ดทราย แบบขาวละเอียดมีเม็ดทราย แบบเนื้อขาวละเอียด และมีแบบเนื้ออกสีแดงเรื่อๆ เนื้อนี้มักเป็นแบบเนื้อหยาบมีทราย

พระสมเด็จอรหัง ส่วนใหญ่แจกที่วัดมหาธาตุฯ และพบบรรจุกรุในองค์พระเจดีย์ที่วัดมหาธาตุ พระที่พบที่วัดมหาธาตุเป็นพระเนื้อสีขาวที่ด้านหลังมักเป็นแบบหลังจาร ต่อมามีผู้พบพระแบบเดียวกันที่วัดสร้อยทองอีก ซึ่งพบบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ แต่พระที่พบมักเป็นพระแบบเนื้อสีแดง และที่ด้านหลังมักเป็นแบบหลังโต๊ะกังเป็นส่วนใหญ่ มีพบเป็นแบบเนื้อขาวบ้างแต่น้อยมาก และพระที่พบที่วัดสร้อยทองนั้นมักเป็นพระเนื้อหยาบกว่าที่พบที่วัดมหาธาตุฯ มีบางท่านให้ข้อคิดเห็นว่า พระที่พบที่วัดสร้อยทองนั้นอาจจะเป็นพระที่สร้างขึ้นมาภายหลังก็อาจเป็นได้

พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ ของท่าน สมเด็จพระสังฆราชสุก จะมีทั้งที่บรรจุกรุและไม่ได้บรรจุกรุ พระที่ไม่ได้บรรจุกรุบางองค์พบมีการลงรักไว้แต่เดิมก็มี เป็นพระสมเด็จอีกตระกูลหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาแต่ในอดีต ปัจจุบันสนนราคาก็สูงพอสมควรอยู่ที่หลักแสนถึงหลายๆ แสนครับ แต่ก็หาพระแท้ๆ ยากเช่นกัน ในวันนี้ผมก็ได้นำรูปพระสมเด็จ อรหัง พิมพ์สังฆาฏิ มาให้ชมกันทั้งด้านหน้าและด้านหลังครับ
พระสมเด็จอรหังพิมพ์เล็ก สังฆราชไก่เถื่อน ข่าวพระเครื่อง

ด้วยความจริงใจ แทน ท่าพระจันทร์
ที่มา...หนังสือพิมพ์ข่าวสด

http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5345080&Ntype=40

http://ucommerce.uamulet.com/CommerceDetail.aspx?bid=110&qid=1304

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น